fbpx

การใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหรือไม่

การใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหรือไม่

การใช้ยาเพื่อกระตุ้นการโตของเซลล์ไข่เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในกระบวนการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการโตของเซลล์ไข่มากกว่า 1 ใบ เพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จของการรักษา ซึ่งจะส่งผลให้มีการสูงขึ้นของระดับฮอร์โมนที่มากกว่าปกติในช่วงของการใช้ยา การเปลี่ยนแปลงนี้เองอาจจะทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสงสัยเกี่ยวกับผลของการใช้ยาในแง่ของโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ในปัจจุบันพบว่า มีรายงานการเข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีเด็กหลอดแก้วทั่วโลกสูงถึงประมาณหนึ่งล้านรอบการรักษาต่อปี ในด้านความปลอดภัยของการรักษาจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ทางการแพทย์ต้องให้ความสนใจมีหลากหลายการศึกษาที่พยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากกับโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกล่มโรคมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรี ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนได้บ่อย

 

มะเร็งรังไข่

โดยปกติแล้วจัดว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้นในกลุ่มสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรทั่วไป โดยมีทฤษฎีที่อธิบายว่าการตกไข่ในแต่ละรอบจะเกิดแผลบริเวณผิวเยื่อบุรังไข่และต้องมีการซ่อมแซมเนื้อเยื่อดังกล่าวซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดเซลล์มะเร็ง การตกไข่ซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในสตรีที่มีบุตรยากจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ ซึ่งต่างจากสตรีที่เคยตั้งครรภ์หรือมีประวัติการใช้ยาคุมกำเนิดที่จะมีช่วงเว้นระยะของการตกไข่ จึงมีข้อสงสัยตามมาว่าการใช้ยากระตุ้นไข่ที่ทำให้เกิดการโตของไข่จำนวนมากจะทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่ที่สูงขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาอย่างเป็นระบบ รวบรวมข้อมูลจากรายงานการแพทย์ 25 ฉบับ จากผู้เข้ารับการรักษา182,972 ราย ยังไม่พบว่าการใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากจะทำให้ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากที่ไม่มีประวัติการใช้ยาดังกล่าว

 

มะเร็งเต้านม

เป็นมะเร็งที่เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากปัจจัยที่หลากหลายร่วมกันบางส่วนเชื่อว่าการสัมผัสกับฮอร์โมนเพศในระยะยาวอาจมีความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเต้านมสูงขึ้น ถึงแม้ว่าการใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากจะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน แต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในระหว่างการรักษาเท่านั้น เมื่อมาดูข้อมูลจากการศึกษาขนาดใหญ่จำนวนมากก็ยืนยันว่าการใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากเอง ไม่ได้ทำให้อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งเต้านมสูงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากที่ไม่ได้ใช้ยาหรือในกลุ่มสตรีทั่วไปก็ตาม

 

มะเร็งมดลูก

มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสูงเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนร่วมด้วย เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนนั้นจะมีผลในแง่ของการป้องกันการเกิดมะเร็งมดลูกนั่นเอง โดยทั่วไปในกระบวนการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้นจะไม่ทำให้เกิดภาวะความเสี่ยงดังกล่าว และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลการศึกษาขนาดใหญ่ก็ยังไม่พบว่าการใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากจะสัมพันธ์กับการเพิ่มอุบัติการณ์ของมะเร็งมดลูกเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาเช่นกัน

 

มะเร็งปากมดลูก

เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของมะเร็งในสตรี แต่หลักฐานในปัจจุบันพบว่าสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูกน่าจะมาจากการติดเชื้อเอชพีวีในบางสายพันธุ์ ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูกจึงมักเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าวเป็นหลัก และที่สำคัญการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยากกับการเกิดมะเร็งปากมดลูกก็ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กันในแง่ของการเพิ่มความเสี่ยงอีกด้วย

 

นอกจากในกลุ่มของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีแล้ว ยังมีการศึกษาอีกจำนวนหนึ่งที่พยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากกับมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งของต่อมไทรอยด์ มะเร็งผิวหนังชนิด Malignant Melanoma มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin เป็นต้น ซึ่งก็ยังไม่พบว่าการใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากจะมีผลให้เกิดโรคมะเร็งต่างๆ สูงขึ้นกว่าสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากที่ไม่เคยได้รับยาแต่อย่างใด

จะเห็นว่าจากข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันการใช้ยารักษาภาวะมีบุตรยากเองนั้นค่อนข้างจะมีความปลอดภัยในแง่ของการเกิดโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม มะเร็งเป็นโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลายและมักเกิดในช่วงอายุที่มาก จึงต้องมีการเก็บข้อมูลในระยะยาวต่อไป การดูแลสุขภาพด้วยการใส่ใจเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะในรายที่มีประวัติโรคมะเร็งในครอบครัวจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง


บทความโดย
นพ.ปกป้อง ปานศรีแก้ว
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
โรงพยาบาลเจตนิน

วารสารวิชาการเจตนิน Vol.9 No.2

FREE CONSULTATION

window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'UA-166232672-1'); !function(f,b,e,v,n,t,s) {if(f.fbq)return;n=f.fbq=function(){n.callMethod? n.callMethod.apply(n,arguments):n.queue.push(arguments)}; if(!f._fbq)f._fbq=n;n.push=n;n.loaded=!0;n.version='2.0'; n.queue=[];t=b.createElement(e);t.async=!0; t.src=v;s=b.getElementsByTagName(e)[0]; s.parentNode.insertBefore(t,s)}(window, document,'script', 'https://connect.facebook.net/en_US/fbevents.js'); fbq('init', '870245816822270'); fbq('track', 'PageView');