ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากเจตนิน
ถาม: เด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ จะมีความแตกต่างจากเด็กที่เกิดตามธรรมชาติหรือไม่
ตอบ: จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ พบว่าเด็กที่เกิดจากวิธีช่วยเจริญพันธุ์ไม่มีความแตกต่างจากเด็กที่เกิดโดยวิธีธรรมชาติ
ถาม: ถ้าตรวจน้ำเชื้อแล้วปรากฏว่ามีเชื้ออ่อนจะยังมีโอกาสมีบุตรได้หรือไม่
ตอบ: ยังสามารถมีบุตรได้ แต่โอกาสในการตั้งครรภ์จะต่ำกว่าผู้ที่มีน้ำเชื้อผ่านเกณฑ์ปกติ ถ้าต้องการเพิ่มโอกาสสำเร็จอาจต้องรับการรักษาโดยการทำ IUI หรือ IVF/ICSI เพื่อช่วยให้เกิดการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ถาม: การดึงเซลล์จากตัวอ่อนเพื่อไปตรวจโครโมโซม จะส่งผลทำให้เด็กมีความพิการในอนาคตหรือไม่
ตอบ: ไม่ส่งผลเนื่องจากเซลล์ในตัวอ่อนยังเป็นเพียงเซลล์ตั้งต้นที่ยังไม่เจาะจงเป็นอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง และหากตัวอ่อนแข็งแรงดีก็จะสามารถแบ่งเซลล์ต่อได้
ถาม: เพราะเหตุใดจึงต้องเลี้ยงตัวอ่อนภายนอก 5 วัน ถ้าเลี้ยงนานกว่านี้ (เช่น 6-8 วัน) จะมีผลดีกว่าหรือไม่
ตอบ: การเลี้ยงตัวอ่อนภายนอกมดลูกเป็นเวลา 5 (เป็นตัวอ่อนระยะ Blastocyst) เพื่อเป็นการคัดกรองตัวอ่อนที่สามารถเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์ตามวัยได้ตามธรรมชาติ และเพื่อที่จะสามารถเลือกตัวอ่อนที่โตตามเกณฑ์และมีคุณภาพดีใส่กลับเข้าสู่โพรงมดลูก สาเหตุที่ไม่เลี้ยงตัวอ่อนนานกว่า 5 วัน (6 วันเป็นอย่างมาก) เนื่องจากหลังจากวันที่ 5 ตามธรรมชาติตัวอ่อนจะเริ่มฟักตัวและฝังตัวที่ผนังมดลูกแล้ว
ถาม: วิธีรักษาการมีบุตรยากวิธีใดที่ได้ผลมากที่สุด
ตอบ: ขึ้นอยู่กับสาเหตุของแต่ละคู่สมรส บางคู่อาจมีเพศสัมพันธ์กันไม่ตรงวันไข่ตก แพทย์จะอัลตร้าซาวด์เพื่อช่วยดูวันไข่ตกและกำหนดวันให้คู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กัน ถ้าลองสัก 2-3 เดือนยังไม่ตั้งครรภ์อาจเปลี่ยนเป็นการฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI) วิธีนี้ภรรยาควรมีท่อนำไข่ดีอย่างน้อย 1 ข้าง สามีควรมีคุณภาพของอสุจิดี วิธีนี้ภรรยาอาจทานยาหรือฉีดยาเพื่อให้รังไข่สร้างไข่ 2-3 ใบ เมื่อไข่โตเต็มที่แพทย์จะฉีดยาให้ไข่ตกและนัดสามีมาเก็บน้ำเชื้อ แพทย์จะทำการฉีดอสุจิที่ผ่านกระบวนการปั่นล้างเพื่อคัดตัวที่เคลื่อนที่ได้ ฉีดเข้าไปในโพรงมดลูก ถ้าทำ IUI ประมาณ 3-6 รอบยังไม่ตั้งครรภ์ แพทย์จะเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จ