
โปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนที่ช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดของคุณแม่
ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หมายถึง ทารกที่คลอด ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ซึ่งพบได้ประมาณ ร้อยละ 11 เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของทารก ในกรณีที่รอดชีวิตก็อาจมีความพิการถาวรติดตัว ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อทารกโตขึ้น ได้แก่ การทำงานของตา ระบบประสาท กล้ามเนื้อ สติปัญญา และการศึกษาในอนาคต อีกทั้งสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลทารกในระยะสั้นและระยะยาว
ประมาณ 2 ใน 3 ของทารกที่คลอดก่อนกำหนดเกิดจากมารดาเจ็บครรภ์คลอดเอง และที่เหลือ 1 ใน 3 มีความจำเป็นต้องให้คลอดเนื่องจากภาวะการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงต่อมารดาที่จะให้ดำเนินการตั้งครรภ์ต่อ หรือมีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ เช่น มีการเจริญเติบโตช้าในครรภ์ จึงเป็นต้องให้คลอดก่อนกำหนด
การใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
จากการศึกษา พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและการคลอดก่อนกำหนด ดังนี้
1.ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ กระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดได้
2.ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูง ยับยั้งการสุกหรือหดสั้นลงและบางลงของปากมดลูก ทำให้ลดการคลอดก่อนกำหนดได้
คุณแม่ตั้งครรภ์เดี่ยวที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อนหรือปากมดลูกหดสั้นลงกว่าปกติ พบว่าถ้าได้รับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในรูปแบบและช่วงเวลาที่เหมาะสม จะสามารถลดการคลอดก่อนกำหนดลงได้ร้อยละ 45 ดังนั้น การทราบประวัติว่าเคยคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อนและการวัดขนาดความยาวของปากมดลูกโดยการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดในช่วงอายุครรภ์ 19-24 สัปดาห์ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้
อย่างไรก็ตาม การใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนก็มีข้อจำกัดในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด รายงานการศึกษาส่วนมากพบว่า ไม่ได้ผลในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนดหรือในคุณแม่ตั้งครรภ์แฝดสองและแฝดสาม การใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโอกาสเสี่ยง ได้แก่ มีประวัติคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน หรือตรวจอัลตราซาวด์พบปากมดลูกสั้นกว่าปกติถือเป็นมาตรฐานใหม่ของการดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยลดการคลอดก่อนกำหนด ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตและลดความพิการของทารกแรกคลอดได้