มาทำความรู้จักกับ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE)
โรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE (Systemic Lupus Erythematosus) หรือ Lupus คือโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำงานผิดปกติ จนก่อให้เกิดการอักเสบและเกิดความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โรคนี้พบในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ได้บ่อยกว่าในเพศชาย และพบบ้างในเด็ก ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเป็นๆ หายๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วยที่สัมพันธ์กับการเกิดโรคได้ เช่น กรรมพันธุ์ (อาจจะมีสารพันธุกรรมบางชนิดที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง) ส่วนปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบมากขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อภายในร่างกาย แสงแดด การตั้งครรภ์ เป็นต้น
อาการของโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE
อาการของโรคนี้จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละรายตั้งแต่ไม่รุนแรงจนกระทั่งรุนแรงมาก ในผู้ป่วยบางรายจะได้รับผลกระทบเพียงบางส่วนของร่างกาย เช่น ผิวหนัง แต่ในอีกหลายๆ รายอาจได้รับผลกระทบทุกส่วน ทั้งนี้แม้อาการของโรคนี้ อาจเป็นอาการเรื้อรัง แต่การกำเริบอาจเกิดขึ้นเป็นบางช่วงเท่านั้น อาการทั่วไป เช่น
1.ความดันโลหิตสูง
2.มีไข้ ปวดข้อ อ่อนเพลีย
3.ผื่นรูปผีเสื้อบนใบหน้า
อาการแทรกซ้อน เช่น มีความบกพร่องทางความสามารถของสมอง ภาวะเลือดจางหรือมีความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวหรือเกล็ดเลือด ไตอักเสบ ปัสสาวะมีเลือดปนหรือมีฟองมากผิดปกติ ประจำเดือนมาไม่ปกติ
ภาวะรังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด หรือ ภาวะรังไข่เสื่อม premature ovarian insufficiency (POI) ภาวะครรภ์เป็นพิษ
โรคแพ้ภูมิตัวเองกับการวางแผนการมีบุตร
จากงานวิจัยพบว่าผู้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองสามารถวางแผนการมีบุตรได้ โดยการที่ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเองที่โรคสงบนานกว่า 6 เดือน ได้รับการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์ที่ถูกต้องและได้รับคำอธิบายจากแพทย์ผู้ดูแลเป็นอย่างดีจะทำให้การตั้งครรภ์นั้นปลอดภัยและประสบความสำเร็จ ลดการกำเริบของตัวโรคได้
ถ้ามีบุตรยาก ใช้วิธีการใดช่วยให้ตั้งครรภ์?
ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง มีบางส่วนที่มีภาวะมีบุตรยากร่วมด้วย อาจเกิดจากตัวโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือเกิดจากยาที่ใช้ในการรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยวิธีการที่ใช้ในการรักษาคนทั่วไป สามารถนำมาใช้ได้ แต่มีความเสี่ยงในการเกิดการกำเริบของผู้ป่วยมากขึ้นกว่าการมีบุตรตามธรรมชาติ เนื่องจากยาที่ใช้ในการกระตุ้นรังไข่ เป็นยาที่มีฮอร์โมนในขนาดสูง ฮอร์โมนที่มีขนาดสูงนี้ จะเป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นให้เกิดการกำเริบของโรคแพ้ภูมิตัวเอง ดังนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษา มักจะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นในผู้ป่วย โดยจะพิจารณาการใช้ยา จากระยะเวลาโรคที่สงบ และภาวะแทรกซ้อนที่พบร่วมด้วย
ดังนั้น การวางแผนมีบุตรสำหรับผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง แพทย์ผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจในการแยกอาการกำเริบของโรคแพ้ภูมิตัวเอง รวมทั้งเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และเลือกใช้ยาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อควบคุมอาการของโรคแพ้ภูมิตัวเองที่กำเริบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งกับมารดาและทารก