AOA เพิ่มทางเลือก เพิ่มโอกาส
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เข้ามารักษาภาวะผู้มีบุตรยากทำให้อัตราการปฏิสนธิและอัตราความสำเร็จสูงขึ้น แม้ว่าผู้เข้ารับการรักษาหลายคู่จะประสบความสำเร็จและสมหวังได้ลูกน้อยมาเติมเต็มในครอบครัว แต่ก็ยังคงมีผู้เข้ารับการรักษาจำนวนไม่น้อยที่ต้องผิดหวังเนื่องจากประสบปัญหาด้านต่าง ๆ
1.การปฏิสนธิที่ต่ำ
2.การไม่เกิดการปฏิสนธิ
3.การไม่ได้ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์
4.ไม่ได้ตัวอ่อนคุณภาพที่ดีพอเพื่อใช้ในการใส่กลับโพรงมดลูก
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากขั้นตอนที่เรียกว่า Oocyte activation ในกระบวนการปฏิสนธิของไข่ไม่ดีพอ ซึ่งกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นหลังจากอสุจิเข้าผสมกับไข่และกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มระดับแคลเซียมภายในเซลล์ไข่ (Calcium oscillation) ระดับแคลเซียมที่เพิ่มขึ้นจะไปกระตุ้นให้ไข่เกิดกระบวนการปฏิสนธิ โดยถ้าในกระบวนการปฏิสนธิเกิดภาวะพร่องแคลเซียม (Calcium deficiency or insufficiency) จะทำให้ระดับแคลเซียมไม่เพียงพอ การปฏิสนธิก็อาจจะไม่เกิดขึ้นหรือหากเกิดขึ้นก็อาจจะส่งผลในขั้นตอนการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถพัฒนาไปจนถึงระยะบลาสโตซิสต์ได้หรือได้ตัวอ่อนที่คุณภาพไม่ดีอย่างไรก็ตามนอกจาก Oocyte activation จะถูกกระตุ้นโดยตัวอสุจิแล้ว เรายังสามารถช่วยให้เกิดกระบวนการนี้ได้ในห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อน เรียกว่า Artificial Oocyte Activation (AOA) โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มระดับของแคลเซียมภายในเซลล์ไข่และคาดหวังให้เกิดอัตราการปฏิสนธิที่สูงขึ้น
โดยทั่วไป AOA ที่นักวิทยาศาสตร์นิยมนำมาใช้มีด้วยกันสามวิธีคือ
1.การใช้เครื่องมือ (Mechanical)
2.การใช้กระแสไฟฟ้า (Electrical)
3.การใช้สารเคมี (Chemical)
มาเป็นตัวกระตุ้นนำแคลเซียมเข้าสู่เซลล์ไข่ โดยปกติการทำ ICSI เป็นการกระตุ้นไข่แบบ Mechanical อยู่แล้ว แต่ในกรณีที่การกระตุ้นแบบ Mechanical ไม่ได้ผลนักวิทยาศาสตร์จึงต้องหา AOA วิธีอื่นมาใช้ร่วมด้วย ซึ่งการใช้สารเคมีมักเป็นวิธีที่ถูกเลือกนำมาใช้เนื่องจากมีขั้นตอนไม่ยุ่งยากและวิธีการทำไม่ซับซ้อน กล่าวคือ หลังจากทำ ICSI ไข่จะถูกนำมาแช่ในสารที่ชื่อว่า แคลเซียมไอโอโนฟอร์ (Calcium Ionophore) เป็นเวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นนำมาเลี้ยงตามขั้นตอนปกติเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิต่อไป
จากงานวิจัยมีการศึกษาการใช้สารแคลเซียมไอโอโนฟอร์เป็นตัวกระตุ้นในกระบวนการ AOA แล้วพบว่า มีประสิทธิภาพในการเพิ่มอัตราการปฏิสนธิให้สูงขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีประวัติอัตราการปฏิสนธิที่ต่ำหรือการปฏิสนธิไม่ดีโดยเฉพาะ
ผลการศึกษาในเรื่องคุณภาพของตัวอ่อนของกลุ่มคนที่อายุ ≥ 40 ปี
ทำให้ได้ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์รวมถึงตัวอ่อนคุณภาพที่ดี เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้สารนี้ในกลุ่มอายุเดียวกัน จากการมีตัวอ่อนเพื่อใช้ในการใส่กลับที่มากขึ้นส่งผลให้คนไข้มีโอกาสในการตั้งครรภ์สูงขึ้นได้นั่นเองทั้งยังพบว่าการใช้ AOA ช่วยเพิ่มอัตราการฝังตัวของตัวอ่อนให้สูงขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ยังไม่พบความผิดปกติในด้านการพัฒนาการของตัวอ่อน รวมถึงจำนวนและลักษณะของโครโมโซม ของตัวอ่อน
ปัจจุบันในกรณีที่ผู้เข้ารับการรักษามีประวัติผลการรักษาที่ไม่ประสบผลสำเร็จมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการไม่เกิดการปฏิสนธิ การปฏิสนธิในอัตราที่น้อยกว่า 30% การไม่ได้ตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิสต์หรือได้จำนวนน้อย รวมถึงมีปัญหาเรื่องคุณภาพของตัวอ่อน เมื่อมีปัญหาเหล่านี้ก็จะนำ AOA แบบ Chemical มาพิจารณาเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากในรอบการรักษาต่อไป