fbpx

อยากมีลูก…เตรียมตัวอย่างไร

อยากมีลูก…เตรียมตัวอย่างไร

การตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่สามารถเตรียมการและวางแผนล่วงหน้าได้ดังนั้น คู่สมรสควรมีการเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายทำได้โดยการปรึกษาสูตินารีแพทย์

ทำไมถึงควรพบแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์
เหตุผลที่ควรพบแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ เป็นเพราะหากตรวจแล้วทราบว่าสุขภาพร่างกายไม่มีปัญหาอะไรต่อการตั้งครรภ์คู่สมรสก็จะได้สบายใจและสามารถวางแผนที่จะตั้งครรภ์ได้อย่างเหมาะสม แต่ในทางกลับกันถ้ารู้ว่าตัวเองมีปัญหาอะไรหรือท้องแล้วอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรได้บ้างก็จะได้ดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ แพทย์เองก็จะได้ดูแลและให้คำแนะนำอย่างเหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งการพบแพทย์นั้นคู่สมรสก็จะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือดดังนี้

1.ซักประวัติ: เนื่องจากคู่สมรสบางรายโดยเฉพาะภรรยาอาจจะมีโรคประจำตัวที่เป็นข้อห้ามในการตั้งครรภ์ หรืออาจจำเป็นที่จะต้องรักษาก่อนการตั้งครรภ์ นอกจากนี้แพทย์จะทำการซักประวัติเพื่อเป็นการตรวจสอบว่าในครอบครัวของทั้งสองฝ่าย มีโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์หรือไม่ เช่น ธาลัสซีเมีย หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้คู่สมรสได้รับคำแนะนำในการวางแผนการมีบุตรอย่างถูกต้อง เนื่องด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าในปัจจุบันนี้ สามารถที่จะคัดกรองตัวอ่อนที่ผิดปกติและเลือกตัวอ่อนที่ปกติ เพื่อให้คู่สมรสมีบุตรที่ปกติได้ อีกทั้งการซักประวัติจะทำให้แพทย์ได้ข้อมูลถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การใช้ยาเสพติดหรือการใช้ยาบางชนิด ที่อาจส่งผลให้ทารกในครรภ์พิการได้ เช่น ยารักษาสิว roaccutane เป็นต้น

2.การตรวจร่างกาย: ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจภายใน ตรวจมะเร็งปากมดลูกและอัลตร้าซาวน์อุ้งเชิงกราน เพื่อดูความสมบูรณ์แข็งแรงและความพร้อมในการตั้งครรภ์ หากพบความผิดปกติ จะได้รีบรักษาก่อนที่จะส่งผลต่อการตั้งครรภ์หรือเป็นสาเหตุของการมีบุตรยาก

3.การตรวจเลือด: ได้แก่ หมู่เลือด, ตรวจความเข้มข้นของเม็ดเลือดเพื่อประเมินสุขภาพทั่วไป, คัดกรองโรคธาลัสซีเมีย, ระดับน้าตาลในเลือด, ตรวจภูมิคุ้มกันโรค เช่น หัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบบีและซิฟิลิส และการตรวจโรคทางพันธุกรรม หากสงสัยว่าทั้งพ่อหรือแม่ต่างก็มีโรคทางพันธุกรรมแฝงอยู่ในตัว

การดูแลสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์
1. ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ทั้งสามีและภรรยา ได้แก่ การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา เป็นต้น หรือหากจำเป็นต้องรับประทานยาเป็นประจำ ก็ควรมีการปรึกษาแพทย์ว่าสามารถใช้ได้หรือไม่

2. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีปริมาณของไขมันหรือน้ำตาลมากจนเกินไป และควรพยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ หรือใกล้เคียงปกติที่สุดก่อนการตั้งครรภ์ โดยดูจากค่าดัชนีมวลกาย ควรอยู่ระหว่าง 18.5-24.9

3. วิตามินที่ควรรับประทานเพื่อเตรียมการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะกรดโฟลิคควรรับประทานอย่างน้อย 400 ไมโครกรัมต่อวัน เพราะกรดโฟลิคสามารถป้องกันการเกิดภาวะ กระดูกไขสันหลังไม่ปิด (spina bifida) ในทารกได้ นอกจากนี้ในสตรีที่มีภาวะโลหิตจาง ควรได้รับธาตุเหล็กเสริมเพื่อให้ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

กล่าวโดยสรุป การเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์นั้น อย่างแรกแนะนำให้คู่สมรสไปตรวจสุขภาพก่อน ถ้ามีปัญหาอะไรจะได้วางแผนการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้อง ระหว่างนี้ก็ควรดูแลสุขภาพไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดละเลิกสิ่งไม่ดีและทานอาหารเสริมกรดโฟลิกวันละ 400
ไมโครกรัม โดยทานก่อนตั้งครรภ์ไว้เพื่อช่วยให้โอกาสเกิดความผิดปกติของกระดูกไขสันหลังทารกมีน้อยลง


บทความโดย
พญ.โยโกะ ทาวาราซูมิดา
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
โรงพยาบาลเจตนิน

วารสารวิชาการเจตนิน Vol.8 No.3

FREE CONSULTATION

window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'UA-166232672-1'); !function(f,b,e,v,n,t,s) {if(f.fbq)return;n=f.fbq=function(){n.callMethod? n.callMethod.apply(n,arguments):n.queue.push(arguments)}; if(!f._fbq)f._fbq=n;n.push=n;n.loaded=!0;n.version='2.0'; n.queue=[];t=b.createElement(e);t.async=!0; t.src=v;s=b.getElementsByTagName(e)[0]; s.parentNode.insertBefore(t,s)}(window, document,'script', 'https://connect.facebook.net/en_US/fbevents.js'); fbq('init', '870245816822270'); fbq('track', 'PageView');