fbpx

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่กับการมีบุตรยาก

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่กับการมีบุตรยาก

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ พบได้บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยพบประมาณ 6-10% ของสตรีทั่วไป และพบได้สูงขึ้นถึง 25-50% ในกลุ่มสตรีที่มีปัญหามีบุตรยาก ในทางกลับกันกลุ่มสตรีที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จะพบว่ามีปัญหามีบุตรยากได้สูงถึง 30-50% ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีความสัมพันธ์กับภาวะการมีบุตรยาก

โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากการที่มีเยื่อบุโพรงมดลูก ไปเจริญเติบโตตามที่ต่างๆ นอกโพรงมดลูก เช่น รังไข่ เยื่อบุอุ้งเชิงกราน หรือเจริญเติบโตแทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้เกิดปัญหาช็อคโกแลตซีสต์ ผังผืดในอุ้งเชิงกราน และภาวะมดลูกโต เป็นต้น

 

อาการแสดงของโรค มีได้ตั้งแต่

– ไม่มีอาการอะไรเลย ซึ่งพบได้ 20-25% ของกลุ่มผู้ป่วยภาวะนี้

– อาการปวด ได้แก่ ปวดท้องประจำเดือน ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดท้องน้อยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ปวดเวลาถ่ายอุจจาระขณะมีประจำเดือน

– ปัญหามีบุตรยาก

 

ปัญหาการมีบุตรยาก กับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ในคนปกติทั่วไปจะมีโอกาสการตั้งครรภ์ธรรมชาติ ในแต่ละเดือนประมาณ 15-20% และลดลงตามอายุ แต่ในกลุ่มสตรีที่มีปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีอัตราการตั้งครรภ์ลดลงอยู่ที่ 2-10% ต่อเดือน โดยเชื่อว่า เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่นี้ทำให้เกิดอาการ

1. อวัยวะในอุ้งเชิงกรานผิดรูปร่างไป

2. มีความผิดปกติของการทำงานของท่อนำไข่และการตกไข่

3. มีความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก

4. มีการลดลงของคุณภาพของไข่ ดังนั้น สตรีที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่จึงมักมีปัญหามีบุตรยากร่วมด้วย

 

ทางเลือกในการรักษา

ทางเลือกการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อายุ อาการปวด ความต้องการมีบุตร และความรุนแรงของตัวโรคที่ตรวจพบ

การรักษาโดยการใช้ยา : ในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตรนั้น ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่มฮอร์โมนต่างๆ ในการรักษา ซึ่งยากลุ่มนี้ได้ผลดีในแง่ลดอาการปวด แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้ก็จะทำงานโดยกดการทำงานของรังไข่ ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องการตั้งครรภ์ เสียโอกาสในการตั้งครรภ์ในช่วงที่ใช้ยา

การรักษาโดยการผ่าตัด : พิจารณาเป็นรายๆ ไปตามอาการ ไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดทุกราย ซึ่งถ้าคนไข้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดส่องกล้องตรวจอยู่แล้ว เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง และพบรอยโรคระหว่างการผ่าตัด แนะนำให้ทำการจี้หรือตัดบริเวณรอยโรคออก โดยพบว่าหลังการผ่าตัด โอกาสการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติจะสูงขึ้นเล็กน้อย

การรักษาโดยการกระตุ้นไข่ฉีดเชื้อ และการทำเด็กหลอดแก้ว : พบว่าเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์อย่างชัดเจน ไม่ว่าผู้ป่วย จะมีความรุนแรงของโรคมากหรือน้อยก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีช็อคโกแลตซีสต์ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเอาซีสต์ออก ก่อนการฉีดเชื้อ และการทำเด็กหลอดแก้ว ยกเว้นผ่าตัดเพื่อลดอาการปวด หรือตำแหน่งของซีสต์มีผลทำให้ไม่สามารถเก็บไข่ได้ เนื่องจากการผ่าตัดเอาซีสต์ออก มีความเสี่ยงที่ไข่จะถูกทำลายจากการผ่าตัด ซึ่งจะทำให้ปริมาณไข่ลดลง จนอาจไม่สามารถกระตุ้นไข่เพื่อทำ เด็กหลอดแก้วในภายหลังการผ่าตัดได้


บทความโดย
พญ.ปิยพันธ์ ปุญญธนะศักดิ์ชัย
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยาและเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์
โรงพยาบาลเจตนิน

วารสารวิชาการเจตนิน  Vol.7 No.1

 

 

FREE CONSULTATION

window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'UA-166232672-1'); !function(f,b,e,v,n,t,s) {if(f.fbq)return;n=f.fbq=function(){n.callMethod? n.callMethod.apply(n,arguments):n.queue.push(arguments)}; if(!f._fbq)f._fbq=n;n.push=n;n.loaded=!0;n.version='2.0'; n.queue=[];t=b.createElement(e);t.async=!0; t.src=v;s=b.getElementsByTagName(e)[0]; s.parentNode.insertBefore(t,s)}(window, document,'script', 'https://connect.facebook.net/en_US/fbevents.js'); fbq('init', '870245816822270'); fbq('track', 'PageView');