fbpx

ตรวจวิเคราะห์อสุจิแล้ว แปลผลอย่างไร

ตรวจวิเคราะห์อสุจิแล้ว แปลผลอย่างไร

ปัญหาภาวะมีบุตรยากอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อาจมีสาเหตุมาจากฝ่ายชาย เช่น อสุจิไม่แข็งแรง หรือมีปริมาณน้อย ดังนั้น การเข้ารับตรวจวิเคราะห์เพื่อตรวจดูคุณภาพของอสุจิจึงเป็นวิธีเบื้องต้นที่จะช่วยในการค้นหาสาเหตุของการมีบุตรยาก ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้

 

วิธีการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ

น้ำอสุจิ ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักๆคือ ตัวอสุจิและน้ำอสุจิซึ่งสร้างจากต่อมต่างๆในระบบสืบพันธุ์เพศชาย ในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำอสุจิจะมีการตรวจทั้งในแง่คุณลักษณะทางกายภาพ และการตรวจนับในเชิงปริมาณด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งปัจจุบันจะมีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในขั้นตอนนี้เพื่อความรวดเร็วและเพิ่มความแม่นยำในการตรวจวิเคราะห์

 

การแปลผลการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ

ในการแปลผลจากการตรวจวิเคราะห์ แพทย์จะใช้ข้อมูลทั้งจากการสอบถามประวัติของคนไข้ เช่น ประวัติการใช้ยา การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา โรคประจำตัว ฯลฯ นำมาวิเคราะห์ร่วมกับค่าต่างๆจากการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิเพื่อประเมินโอกาสในการเกิดภาวะมีบุตรยากจากปัจจัยฝ่ายชาย ซึ่งใช้ค่าเปรียบเทียบตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก

1.ปริมาตร: ปริมาตรน้ำอสุจิจากการหลั่งในแต่ละครั้ง ควรมีมากกว่าหรือเท่ากับ 1.5 มิลลิลิตร

2.ความเป็นกรดด่าง (pH): ระดับความกรดด่างของน้ำอสุจิควรอยู่ที่ 7.2 หรือมากกว่า

3.ความข้นหนืด: น้ำอสุจิที่ปกติจะมีลักษณะหนืดข้น ซึ่งจะมีความหนืดน้อยลง และเปลี่ยนเป็นลักษณะเหลว ภายในเวลาประมาณ 15-30 นาที

4.ความเข้มข้นของตัวอสุจิ(จำนวนตัวอสุจิต่อปริมาตรหนึ่งมล.): ปริมาณตัวอสุจิต้องมีมากกว่าหรือเท่ากับ 15 ล้านตัว ต่อ 1 มิลลิลิตร

5.สี: น้ำอสุจิตามปกติควรมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่น แต่ในบางกรณี อาจพบว่า สีของน้ำอสุจิเปลี่ยนไปได้จากบางปัจจัย เช่น การกินยา มีเลือดปน หรือ การติดเชื้อของระบบท่อปัสสาวะ

6.รูปร่าง: น้ำอสุจิจะถูกตรวจวิเคราะห์รูปร่างของตัวอสุจิเพื่อคำนวณหาเปอร์เซ็นของตัวอสุจิที่ปกติจากอสุจิทั้งหมด ตามปกติควรจะมีสัดส่วนของตัวอสุจิปกติไม่ต่ำกว่า 4%

7.การเคลื่อนไหวและการมีชีวิตของอสุจิ: อสุจิที่จะเข้าปฏิสนธิได้ในธรรมชาติ จำเป็นที่จะต้องเป็นอสุจิที่เคลื่อนไหวได้ดี โดยการตรวจวิเคราะห์จะตรวจนับอสุจิที่เคลื่อนไหวทั้งหมดซึ่งควรมีไม่น้อยกว่า 40% และเมื่อดูรูปแบบการเคลื่อนไหวแล้ว ควรเป็นอสุจิที่เคลื่อนไหวดีอย่างน้อย 32% แล้วอาจมีอสุจิบางส่วนที่ไม่เคลื่อนไหว แต่ยังคงมีชีวิตอยู่ จึงอาจมีการตรวจหาสัดส่วนของจำนวนอสุจิที่มีชีวิตทั้งหมดเพื่อประกอบการวินิจฉัยด้วย โดยควรเป็นอสุจิที่มีชีวิตมีเท่ากับหรือมากกว่า 58%

8.ค่าเม็ดเลือดขาว: จำนวนเม็ดเลือดขาวในน้ำอสุจิไม่ควรเกิน 1 ล้านเซลล์ต่อมิลลิลิตร การมีปริมาณเม็ดเลือดขาวในน้ำอสุจิที่มากกว่าปกติอาจบ่งบอกถึงภาวะการอักเสบ ติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ได้

 

คำแนะนำการเก็บน้ำอสุจิ

เพื่อให้การวัดผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เข้ารับการตรวจควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมและต้องไม่มีอาการป่วย โดยให้ปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

– งดหลั่งน้ำอสุจิอย่างน้อย 2 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน ก่อนตรวจ

– ทำความสะอาดอวัยวะเพศและล้างมือให้สะอาด

– ใช้ภาชนะเก็บอสุจิจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งปราศจากเชื้อและสารเคมีที่เป็นอันตรายต่ออสุจิ

– ห้ามเก็บอสุจิผ่านถุงยางอนามัยทั่วไป เนื่องจากอาจมีสารที่เป็นอันตรายต่ออสุจิ

– กรณีที่เก็บอสุจิจากที่บ้าน ต้องนำส่งไปยังห้องปฏิบัติการโดยเร็ว ภายใน 1 ชั่วโมง โดยเก็บภายใต้อุณหภูมิห้อง 20-37 องศาเซลเซียส ห้ามแช่เย็น

ทั้งนี้ในการแปลผลการตรวจวิเคราะห์ ควรทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถวางแผนการรักษาหรือตรวจติดตามได้อย่างเหมาะสม และการตรวจอสุจิแต่ละครั้งอาจมีผลที่แตกต่างกันได้บ้าง ขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกาย และปัจจัยต่างๆในขณะนั้น เช่น การปฏิบัติตัว การออกกำลังกาย การใช้ยาต่างๆ เป็นต้น


บทความโดย

นพ.ปกป้อง ปานศรีแก้ว

FREE CONSULTATION

window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'UA-166232672-1'); !function(f,b,e,v,n,t,s) {if(f.fbq)return;n=f.fbq=function(){n.callMethod? n.callMethod.apply(n,arguments):n.queue.push(arguments)}; if(!f._fbq)f._fbq=n;n.push=n;n.loaded=!0;n.version='2.0'; n.queue=[];t=b.createElement(e);t.async=!0; t.src=v;s=b.getElementsByTagName(e)[0]; s.parentNode.insertBefore(t,s)}(window, document,'script', 'https://connect.facebook.net/en_US/fbevents.js'); fbq('init', '870245816822270'); fbq('track', 'PageView');