fbpx

การแช่แข็งไข่

การแช่แข็งไข่

การแช่แข็งไข่

ในสังคมปัจจุบันผู้หญิงเรามีความรู้ความสามารถมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานในองค์กรต่างๆ และให้ความสำคัญกับงานมาเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ในชีวิต ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ผู้หญิง

มีแนวโน้มที่จะแต่งงานใช้ชีวิตคู่และวางแผนการมีบุตรช้าลง แต่จากงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 35 ปี จะมีโอกาสตั้งครรภ์ลดลง และประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากมากขึ้น เพราะปัจจัยสำคัญ

ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ คือ อายุของไข่ในเพศหญิง เนื่องจากเมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น จะมีจำนวนไข่ในรังไข่น้อยลง (Ovarian reserve) รวมถึงคุณภาพของไข่ (Oocyte competence) ก็จะลดลงด้วยเช่นกัน (Cimadomoet al., 2018) ด้วยเหตุผลนี้ การใช้เทคโนโลยีการแช่แข็งไข่ (Oocyte cryopreservation) จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง

ในการเก็บรักษาจำนวนไข่และคุณภาพไข่เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต

 

การแช่แข็งไข่ (Oocyte cryopreservation)

เป็นการรักษาคุณภาพของเซลล์ไข่ให้คงสภาพเช่นเดิม โดยการหยุดการทำงานของเซลล์ไว้ด้วยวิธีการลดอุณหภูมิของเซลล์ลงจนถึงอุณหภูมิที่เรียกว่า sub-zero temperature และใช้สารป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็ง (Ice formation) ที่เรียกว่า Cryoprotective additives (CPAs) เพื่อป้องกันความเสียหายภายในเซลล์ไข่ ที่อาจเกิดขึ้นจากความเย็น และทำการเก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลว (Liquid nitrogen) ที่อุณหภูมิ –196 °c ซึ่งการแช่แข็งที่นิยมใช้มี 2 วิธี คือ

1. Slow freezing เป็นการแช่แข็งไข่ที่ค่อยๆ ลดอุณหภูมิในเซลล์ลงอย่างช้าๆ 0.3 – 0.5°c/min. โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ช่วยในการแช่แข็ง

2. Vitrifcation เป็นวิธีที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่ เป็นการลดอุณหภูมิของเซลล์ลงอย่างรวดเร็ว 15,000 – 30,000°c/min. และใช้สาร CPAs ที่มีความเข้มข้นสูงกว่า เพื่อทำให้ของเหลวภายในเซลล์มีลักษณะเป็น glass- like stage และช่วยลดการเกิดผลึกน้ำแข็ง ซึ่งผลึกน้ำแข็งนี้เป็นตัวการส้ำคัญที่จะท้ำให้เซลล์ไข่เกิดความเสียหาย

 

ในปัจจุบันนิยมใช้วิธี Vitrifcation ในการแช่แข็งไข่มากกว่าวิธี Slow freezing เพราะสะดวกรวดเร็วกว่า อีกทั้งยังลดความเสียหายภายในเซลล์ที่เกิดจากผลึกน้ำแข็ง โดยมีอัตราการรอดชีวิตหลังการละลาย (Survival rate) มากกว่าวิธี Slow freezing และอัตราความสำเร็จ (Clinical Pregnancy Rate: CPR) ไม่ต่างกับไข่ในรอบเก็บสด (Fresh oocyte) (Argyle et al., 2016) แต่อย่างไรก็ตาม อัตราความสำเร็จหลังละลายนี้จะขึ้นอยู่กับอายุของไข่เป็นสำคัญ เพราะการแช่แข็งไข่ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี จะมีอัตราความสำเร็จอยู่ที่ 48.6% ขณะที่ผู้หญิงมีอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัตราความสำเร็จก็จะลดลงเรื่อยๆ เช่นกัน และพบว่าที่อายุ 41-43 ปี อัตราความสำเร็จนี้จะเหลือเพียง 22.2% เท่านั้น

 

ผู้หญิงที่ควรฝากแช่แข็งไข่

1. ผู้ที่ต้องได้รับการรักษาโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น การรักษาด้วยการฉายรังสี หรือการให้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งที่อาจจะส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์

2. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของรังไข่ เช่น เนื้องอก ซีสต์ (Cyst)

3. ในกรณีที่ทำการรักษาภาวะมีบุตรยาก แต่ผู้ชายไม่สามารถหลั่งอสุจิหรือไม่มีตัวอสุจิในวันที่ทำการเจาะไข่ก็สามารถแช่แข็งไข่ไว้ก่อนได้

4. ในบางประเทศอาจจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแช่แข็งตัวอ่อน (Embryo) ก็สามารถแช่แข็งไข่ไว้ก่อนแล้วจึงค่อยๆ ละลายออกมาปฏิสนธิได้หลายๆ ครั้ง

5. ผู้ที่ต้องการบริจาคไข่ใน Egg bank (Egg Donation)

6. ผู้ที่มีประวัติครอบครัวหมดประจำเดือนเร็ว

7. ผู้ที่ยังไม่พร้อมจะมีบุตรในขณะนี้ แต่วางแผนจะมีบุตรในอนาคต ที่เรียกกันว่า “Social egg freezing” Social egg freezing ได้รับความสนใจมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน เพราะผู้หญิงวางแผนแต่งงานช้าลงด้วยปัจจัยหลายๆ    อย่าง เช่น การศึกษา หน้าที่การงานซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการวางแผนการมีบุตรในอนาคต และบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัท เช่น Facebook Google และ Apple มีนโยบายสนับสนุนให้พนักงานหญิง ฝากแช่แข็งไข่ไว้ก่อน เพื่อให้พนักงานสนุกกับการทำงานโดยไม่ต้องกังวลหรือเร่งรีบมีบุตร

 

การเตรียมตัวและขั้นตอนการเก็บไข่

ขั้นตอนการเริ่มต้นสำหรับผู้ที่ต้องการฝากแช่แข็งไข่ จะคล้ายการทำเด็กหลอดแก้วปกติ คือ ต้องทำการตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทาง และมีการฉีดยากระตุ้นไข่ทุกวัน แล้วมีการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของไข่เมื่อไข่ได้ขนาดตามที่ต้องการแล้วจะฉีดฮอร์โมน HCG เพื่อทำให้ไข่สุก หลังจากฉีดแล้ว 36 ชั่วโมงจะทำการเจาะและดูดไข่ออกมาผ่านทางช่องคลอด จากนั้นนักวิทยาศาสตร์เลี้ยงตัวอ่อนจะทำการคัดเลือกเฉพาะไข่สุก(Mature oocyte: MII) ที่มีคุณภาพดีและสมบูรณ์ไปแช่แข็ง

 

อัตราความสำเร็จ

เซลล์ไข่ที่ผ่านกระบวนการแช่แข็งมาแล้วเมื่อนำมาทำ In Vitro Fertilization (IVF) หรือ Intracytoplasmic Sperm Injection (ICSI) พบว่ามีอัตราการปฏิสนธิและอัตราการ ตั้งครรภ์ไม่ต่างกับไข่ในรอบการเก็บสด (Fresh oocyte) รวมไปถึงเด็กที่เกิดจากไข่แช่แข็งก็ไม่พบว่ามีความผิดปกติเพิ่มขึ้นจากการทำ IVF หรือ ICSI (Argyle et al., 2016;Crawford et al., 2013) ยกตัวอย่างเคสของเจตนิน 1 ราย ที่มีการแช่แข็งไข่ด้วยวิธี Vitrifcation ไว้นานเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 (ขณะนั้นคนไข้อายุ 36 ปี) แช่แข็งไข่ไว้จำนวน 6 ใบ ต่อมาในปีพ.ศ. 2561 (คนไข้อายุ 45 ปี) กลับมาละลายไข่ทั้งหมด มีอัตราการรอดชีวิตหลังละลาย100% และอัตราการปฏิสนธิอยู่ที่ 83% เมื่อเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงวันที่ 5 ได้ตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสท์ (Blastocyst) จำนวน 4 ตัวอ่อน คิดเป็น 80% ของตัวอ่อนที่เลี้ยงมา ในเคสนี้ มีการใส่กลับ (Embryo Transfer: ET) จำนวน 2 ตัวอ่อน และประสบความสำเร็จคนไข้มีการตั้งครรภ์ นอกจากนั้นยังเหลือตัวอ่อนแช่แข็งเก็บไว้อีก 2 ตัวอ่อนสำหรับใช้ในอนาคตหากต้องการมีบุตรเพิ่ม

การแช่แข็งไข่จึงนับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้หญิงหลายๆ คน ที่ต้องการเก็บรักษาเซลล์ไข่ในขณะที่ยังมีคุณภาพดีไว้ใช้ในอนาคต อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยากหรือความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นกับทารก


บทความโดย
ทนพญ.กนกวรรณ คำแคว่น
นักเทคนิคการแพทย์, ห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อน โรงพยาบาลเจตนิน

วารสารวิชาการเจตนิน Vol.10 No.2

 

FREE CONSULTATION

window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'UA-166232672-1'); !function(f,b,e,v,n,t,s) {if(f.fbq)return;n=f.fbq=function(){n.callMethod? n.callMethod.apply(n,arguments):n.queue.push(arguments)}; if(!f._fbq)f._fbq=n;n.push=n;n.loaded=!0;n.version='2.0'; n.queue=[];t=b.createElement(e);t.async=!0; t.src=v;s=b.getElementsByTagName(e)[0]; s.parentNode.insertBefore(t,s)}(window, document,'script', 'https://connect.facebook.net/en_US/fbevents.js'); fbq('init', '870245816822270'); fbq('track', 'PageView');