ตรวจ AMH วัดจำนวนไข่ ประเมินประสิทธิภาพรังไข่ก่อนมีบุตร
อยากฝากไข่ ทำไมต้องตรวจ AMH
ปัจจุบันนี้ ผู้หญิงมีแนวโน้มตั้งครรภ์เมื่ออายุสูงขึ้น แต่โดยตามธรรมชาติแล้ว เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ปริมาณไข่และคุณภาพของไข่จะลดลงเรื่อย ๆ ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์มีน้อยลง การฝากไข่จึงถือเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้ที่อยากมีบุตรแต่ยังไม่พร้อมในเวลานี้ ซึ่งจะทำให้ได้ไข่ที่มีคุณภาพดีเพื่อการมีบุตรในอนาคต สำหรับผู้ที่มีความต้องการที่จะฝากไข่ เบื้องต้นก่อนที่จะเริ่มกระบวนการฝากไข่ แพทย์จะตรวจประเมินความสามารถในการทำงานของรังไข่ก่อน ซึ่งการตรวจฮอร์โมน AMH เป็นการประเมินปริมาณไข่อย่างคร่าว ๆ ช่วยให้คุณผู้หญิงสามารถวางแผนการมีบุตรได้
ฮอร์โมน AMH คืออะไร บอกอะไรได้บ้าง
ฮอร์โมน AMH (Anti-Müllerian Hormone) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากไข่ใบเล็ก ๆ ในรังไข่ ใช้ในการประเมินความสามารถในการทำงานของรังไข่ ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินได้ว่าน่าจะมีจำนวนไข่เหลืออยู่ในรังไข่มากน้อยเพียงใด ประกอบกับการตรวจอัลตราซาวด์นับจำนวนถุงไข่ในรังไข่ (Antral Follicle Count : AFC) และผลเลือดดูค่าฮอร์โมนต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก ประเมินการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้คุณผู้หญิงวางแผนได้ว่าควรมีบุตรตอนนี้ หรือสามารถรอเวลาก่อนได้ หรือควรทำการฝากไข่ไว้ก่อนเพื่อรอมีบุตรในอนาคต
ค่า AMH มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอะไร
ผู้หญิงทุกคนเกิดมาพร้อมไข่ในรังไข่ที่มีจำนวนแน่นอนประมาณ 1-2 ล้านฟอง ซึ่งเป็นจำนวนไข่ตลอดชีวิตของผู้หญิง และไม่สามารถสร้างเพิ่มใหม่ได้ ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ที่ผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือนนั้น รังไข่จะมีไข่ 3-4 แสนฟอง และในแต่ละเดือน จะมีไข่เพียง 1 ฟองที่ตกออกมาเพื่อใช้ในการปฏิสนธิเท่านั้น โดยทั่วไปคุณผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 24 – 29 ปีนั้น จะมีค่า AMH ที่อยู่ในระดับดีมาก ซึ่งนั่นหมายความว่าปริมาณไข่ในรังไข่มีมากเพียงพอ และรังไข่สามารถทำงานได้ดี และเมื่อมีอายุมากขึ้น ไข่ที่เหมาะกับการตั้งครรภ์จะลดลงเรื่อย ๆ ทั้งในแง่ของจำนวนและคุณภาพ จึงทำให้ตรวจพบค่าฮอร์โมน AMH ลดลงไปด้วย นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ พันธุกรรม หรือโรคเกี่ยวกับรังไข่ ยังส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของเซลล์ไข่ได้อีกด้วย ดังนั้น จากเดิมที่ค่าฮอร์โมน AMH ที่มีค่าผันแปรตามอายุ แต่เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ จึงทำให้ผู้หญิงหลายท่านมีระดับฮอร์โมน AMH ไม่สัมพันธ์กับอายุเสมอไป
ข้อดีของการตรวจฮอร์โมน AMH
การตรวจ AMH เหมาะกับคุณผู้หญิงที่วางแผนมีบุตรทุกช่วงวัย เนื่องจากเป็นการช่วยประเมินระยะเวลาที่เหมาะสมในการวางแผนการตั้งครรภ์ ช่วยวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการฝากไข่ของคุณผู้หญิง นอกจากนี้การตรวจ AMH ยังสามารถช่วยประเมินภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนด (Premature Ovarian Insufficiency: POI) หรือเป็นตัวช่วยในการประเมินหาภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome : PCOS) ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการมีบุตรยากก่อนวัย ในการรักษาผู้มีบุตรยาก จะใช้ค่าบ่งชี้ของ AMH วัดการตอบสนองของรังไข่หลังการกระตุ้นด้วยยา รวมถึงปริมาณยาที่ควรใช้ในการกระตุ้นเพื่อให้มีการผลิตไข่ออกมาในปริมาณที่มากพอ เพื่อพยากรณ์และป้องกันการเกิดภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Hyper-response)
ขั้นตอนของการตรวจวัดระดับฮอร์โมน AMH
การตรวจฮอร์โมน AMH สามารถตรวจวิเคราะห์ได้ไม่ยาก เพียงแค่เจาะเลือด ซึ่งสามารถตรวจได้ทุกวัน ได้ทั้งในช่วงก่อน-หลัง และช่วงที่มีประจำเดือน และไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนการเจาะเลือด ก็สามารถทำการตรวจวิเคราะห์ได้ เป็นการตรวจที่ค่อนข้างรวดเร็วและแม่นยำ ทำให้รู้ประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่ได้ สามารถประเมินจำนวนไข่คร่าว ๆ ที่เหลืออยู่สำหรับการเจริญพันธุ์ ช่วยให้คุณหมอวางแผนการรักษาให้กับคุณผู้หญิงได้อย่างเหมาะสม ช่วยประเมินโอกาสในการประสบความสำเร็จในการรักษาด้วยกระบวนการเทคโนโลยีเพื่อการมีบุตร และเพื่อช่วยในการวางแผนการมีบุตรสำหรับคุณผู้หญิงที่ต้องการมีบุตรในวันนี้และในอนาคต ทั้งนี้ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ